วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หมากล้อม

ครูพลจะเล่าถึงประวัติความเป็นมาของหมากล้อมนะครับ

โกะ(GO)หรือหมากล้อม เป็นกีฬาที่แสดงความยืนยาวและไพศาลอันลึกซึ้งของอารยธรรมจีนมานานกว่า 3,000 ปี และกำลังแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นภูมิปัญญาตะวันออกที่เปี่ยมด้วยคุณค่า พัฒนาปัญญา และยกระดับจิตวิญญาณได้อย่างมหัศจรรย์ จึงได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 ของศิลปะประจำชาติจีน ซึ่งได้แก่ดนตรี หมากล้อม การเขียนตัวอักษร และการวาดภาพ ในสมัยอดีตนิยมเล่นกันในหมู่ผู้บริหารประเทศระดับฮ่องเต้ แม่ทัพนายกอง และปัญญาชนชั้นสูง




          หมากล้อม เป็นชื่อที่แปลมาจากภาษาจีนว่า “เหวยฉี”
               ฉี       หมายถึง  หมากกระดานซึ่งมีหลายชนิดเช่น หมากรุกจีนเรียกว่า “เซี่ยงฉี”
               เหวย  หมายถึง  ล้อม, ปิดกั้นหมากกระดานชนิดนี้ถือการล้อมตัวหมากของฝ่ายตรงข้ามเป็นหลักสำคัญ
          เหวยฉีจึงควรแปลว่า “หมากล้อม” ยิ่งกว่าแปลเป็นคำอื่น แต่คนในวงการหมากล้อมรู้จักกีฬาชนิดนี้ตามเสียงภาษาญี่ปุ่นว่า “โกะ” จนกลายเป็นชื่อสากลภาษาอังกฤษเขียนว่า “GO”

          คำว่า “ฉี” จีนยุคเก่าตั้งแต่ราชวงศ์ถังขึ้นไป ออกเสียงพยัญชนะต้นเป็นเสียง “ก” เมื่อญี่ปุ่นรับไปออกเสียงเป็น “อิโกะ” เมื่อกลายเป็นเกมสากลจึงเรียกกันว่า GO GAME หรือ GO ในเมืองไทยคำว่า โกะ ก็เป็นชื่อที่แพร่หลายแต่ชื่อทางการนิยมเรียกว่า หมากล้อม เพื่อให้เข้ากับที่เรียกหมากกระดานชนิดอื่นๆ

          ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้ว ในสมัยโชกุนโตกุกาวะ ได้สนับสนุนให้ทหารเล่นหมากล้อม เพื่อทดแทนการรบพุ่ง เปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการต่อสู้ด้วยปัญญา ที่สำคัญคือได้จัดสำนักวิชาหมากล้อมขึ้น 4 สำนัก คล้ายสำนักวิทยายุทธของจีน และมีการคัดคนดีมีฝีมือของสำนักตนขึ้นชิงตำแหน่ง “เมยิน” เจ้าแห่งยุทธจักรหมากล้อมญี่ปุ่น

          ปัจจุบัน หมากล้อมแพร่หลายไปกว่า 60 ประเทศ ในทวีปยุโรป อเมริการเหนือ อเมริกาใต้ และเอเชียเกือบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ส่วนในทวีปอัฟริกามีแต่ประเทศอัฟริกาใต้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น